20/05/2022
งานยาแนวรอยต่อ

กาวซิลิโคน กาวอะคริลิค และกาวพียู เป็นกาวยาแนวที่ใช้ในการยาแนวปิดช่องว่างหรือรอยต่อทั่วไปภายในบ้านหรือภายนอกอาคาร ทั้งนี้กาวทั้งสามชนิดเมื่อแห้งแล้วจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก แต่มีคุณสมบัติและราคาที่แตกต่างกันไป ทำให้กาวแต่ละประเภทเหมาะแก่การใช้งานที่ต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ใช้งานต้องเข้าใจความแตกต่างของกาวแต่ละประเภท เพื่อนำไปใช้งานได้ถูกต้อง ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ต้องจ่ายเงินแพงเกินความจำเป็น

กาวซิลิโคน คืออะไร

ซิลิโคนยาแนว

กาวซิลิโคน คือ กาวยาแนวที่มีส่วนประกอบหลักมาจากโพลีเมอร์ซิลิโคน (ประกอบด้วย ซิลิกอน คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน) หลังจากแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะแข็งและมีความยืดหยุ่นสูงถึง 25% โดยประมาณ มีผิวมันวาว ใช้งานได้หลากหลาย และทนต่อรังสียูวี สามารถงานได้ทั้งงานภายในและภายนอกอาคาร มีแรงยึดเกาะสูง

กาวซิลิโคน มีกี่ประเภท

ซิลิโคนยาแนวมี 2 ประเภท คือ กาวซิลิโคนชนิดมีกรด และกาวซิลิโคนชนิดเป็นกลาง (ไม่มีกรด)

โดยกาวซิลิโคนชนิดมีกรด จะมีลักษณะเฉพาะตัว คือ ในขณะใช้งานจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชู (เมื่อกาวแห้งตัวแล้วกลิ่นก็จะหายไป) กาวชนิดนี้แห้งเร็ว และมีความแข็งแรงสูง แต่อาจมีฤทธิ์กัดกร่อนวัสดุที่นำไปติดได้ เนื่องจากกาวมีความเป็นกรด จึงนิยมนำไปใช้ติดกระจกที่มีความทนทานต่อสารเคมีสูง เหมาะกับพื้นผิวรอยต่อประเภท กระจก เซรามิค ไฟเบอร์กลาส ไม้ และอลูมิเนียม ยกเว้น พื้นผิวประเภทโลหะ หรือหิน เนื่องจากกรดจะทำปฎิกิริยากับพื้นผิวและกัดกร่อนพื้นผิว และเกิดสนิม

ส่วนกาวซิลิโคนชนิดเป็นกลาง จะมีลักษณะที่แห้งตัวช้ากว่า มีความแข็งแรงน้อยกว่า แต่มีความยืดหยุ่มสูงกว่ากาวซิลิโคนที่เป็นกรด มีกลิ่นเหม็นน้อยกว่า และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนวัสดุ เหมาะกับพื้นผิวประเภท โลหะ หิน กระจก อลูมิเนียม 

กาวอะคริลิค คืออะไร

อะคริลิคยาแนว ยาแนวหน้าต่าง

กาวอะคริลิค คือ กาวยาแนวที่มีส่วนประกอบหลักมาจากโพลีเมอร์อะคริลิค (คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน) ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย แต่เมื่อกาวแห้งและแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ อะคริลิคมีคุณสมบัติ ยืดหยุ่นและรับแรงได้น้อย แต่สามารถทาสีทับและขัดแต่งผิวงานได้ ไม่ทนต่อแสงยูวี เหมาะสำหรับงานปิดรอยและขัดตกแต่งผิวงานภายในอาคาร สามารถเก็บงานได้สวยงาม

ความแตกต่างระหว่างกาวซิลิโคน กับกาวอะคริลิค และวิธีการเลือกใช้ให้ถูกต้อง

ซิลิโคนและอะคริลิค เป็นกาวที่ถูกใช้ในการยาแนวปิดช่องว่าง หรือรอยต่อ ภายในบ้าน หรืออาคารต่าง ๆ โดยมีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก แต่ในการเลือกกาวยาแนวชนิดใดชนิดหนึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และการนำไปใช้งานเป็นหลัก ดังนั้น เราจึงสรุปความแตกต่างและการใช้งาน ระหว่างซิลิโคนและอะคริลิค มาเป็นข้อๆ ดังนี้

ความยืดหยุ่น

ซิลิโคน ยืดหยุ่นดีกว่าอะคริลิค ซิลิโคนยืดหยุ่นประมาณ 25% ในขณะที่ อะคริลิคยืดหยุ่นประมาณ 12% และรับแรงได้น้อยกว่าซิลิโคน จึงไม่แนะนำให้ใช้อะคริลิคในส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ หรือบริเวณที่มีแรงสั่นสะเทือน

การยึดเกาะ

ซิลิโคนยึดเกาะได้ดีกับพื้นผิวเรียบ เช่น กระจก เซรามิค ไฟเบอร์กลาส ไม้ และอลูมิเนียม ใช้ยาแนวรอยต่อระหว่างอะลูมิเนียมกับกระจกได้ดี ซิลิโคนไม่เหมาะกับพื้นผิวที่มีฝุ่นเกาะ เช่น ผิวปูน ผิวคอนกรีต เพราะตัวซิลิโคนจะไม่จับกับผิววัสดุแต่จะไปจับกับฝุ่นแทนทำให้ไม่มีแรงยึดเกาะ หากจะนำซิลิโคนมาใช้งานประเภทนี้ก็ต้องทำความสะอาดพื้นผิวให้ปราศจากฝุ่นและต้องทาน้ำยารองพื้นก่อนพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะ ซึ่งมีความยุ่งยากในการใช้งานและเพิ่มค่าใช้จ่าย 
ในขณะที่อะคริลิค สามารถใช้กับวัสดุทั้งผิวเรียบและผิวขรุขระได้ เหมาะสำหรับใช้ยาแนวรอยต่อระหว่างผนังปูนกับวงกบประตู หน้าต่าง ไม้ อลูมิเนียม 

ทาสีทับ

ซิลิโคนทาสีไม่ติด จึงมีวางจำหน่ายหลายสีให้เลือกตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เช่น สีใสใช้กับงานกระจก สีขาวใช้กับงานสุขภัณฑ์ สีดำใช้กับพื้นผิวที่มีสีเข้ม เช่น ท็อปเคาน์เตอร์ครัวที่เป็นหินแกรนิต เป็นต้น  ในขณะที่ อะคริลิคเมื่อแห้งแล้ว สามารถขัดแต่งผิวงาน และทาสีทับได้ จึงเหมาะกับการยาแนวรอยร้าวที่มีขนาดเล็ก ๆ ตามผนังบ้านที่ต้องการทาสีทับ

กันน้ำ

อะคริลิค มีส่วนประกอบที่เป็นสูตรน้ำ ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านอะคริลิคได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้อะคริลิคในบริเวณที่เปียกหรือแฉะ อะคริลิคจึงเหมาะกับการใช้งานภายในอาคาร และงานอุดรอยต่อเพื่อความสวยงาม หากต้องการยาแนวใช้งานในห้องน้ำ ห้องครัว และบริเวณที่โดนน้ำ แนะนำให้ใช้ซิลิโคน ซึ่งจะมีสูตรพิเศษสำหรับยาแนวสุขภัณฑ์ สามารถป้องกันเชื้อราได้

ทนแดด

ซิลิโคนมีความทนทานต่อสภาพอากาศและรังสียูวีได้ดีมาก ในขณะที่ อะคริลิคไม่ทนแดด มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ต่ำ  ฉะนั้น กาวอะคริลิคจึงเหมาะสมกับแก่การใช้งานภายในอาคารเท่านั้น ส่วนซิลิโคน สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าอะคริลิค จึงเหมาะกับการยาแนวแผงโซลาเซลส์ หลังคาเมทัลชีท ประตู-หน้าต่าง

กาวพียู คืออะไร ใช้บริเวณใด

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเห็นว่าทั้งซิลิโคน และอะคริลิค มีคุณสมบัติที่เฉพาะตัว มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ยังมีวัสดุยาแนวอีกชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ซิลิโคน และอะคริลิค กาวชนิดนี้มีชื่อว่า “โพลียูรีเทน”

โพลียูรีเทนยาแนว ยาแนวโครงสร้าง

กาวโพลียูรีเทน มักเรียกกันสั้นๆ ว่าพียู (PU) เป็นสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน คาร์บอน และออกซิเจนเป็นองค์ประกอบหลัก มีความแข็งแรง เหนียว ติดแน่น มีลักษณะคล้ายยาง ทำให้เกิดการฉีกขาดได้ยาก กาวโพลียูรีเทนจึงถูกนำมาใช้ในงานที่ต้องการความแข็งแรงสูง
นอกจากนี้ กาวโพลียูรีเทนยังมีความยืดหยุ่นสูงมาก ยืดขยายตัวได้รอบทิศทาง และสามารถรองรับการเคลื่อนตัวของโครงสร้างได้ดี กาวโพลียูรีเทนทนต่อสภาพอากาศและรังสียูวีได้ดี สามารถทาสีทับได้ และกันน้ำซึมผ่านได้ จึงสามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เหมาะสำหรับยาแนวรอยต่อของในงานต่าง ๆ ดังนี้ รอยต่อผนังอาคารภายในและภายนอกอาคาร รอยต่อคอนกรีตสำเร็จรูป รอยต่อพื้นคอนกรีต กรอบวงกบประตู หน้าต่าง อลูมิเนียม รอยแตกร้าวตามผนัง เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ยาแนวรอยต่อซิก้า

ยาแนวรอยต่อ ประเภทซิลิโคน

รุ่นผลิตภัณฑ์ การใช้งาน
Sikasil®-119 Multipurpose สำหรับงานยาแนวรอยต่อทั่วไป ใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอก ไม่มีกรด
Sikasil®-129 Kitchen & Bathroom สำหรับงานยาแนวรอยต่อสุขภัณฑ์ มีคุณสมบัติทนเชื้อรา เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
Sikasil® AP สำหรับงานยาแนวรอยต่อทั่วไป ใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอก ไม่มีกรด
Sikasil®-670 Fire ยาแนวรอยต่อทนไฟ สำหรับป้องกันไฟลามบริเวณเชื่อมต่อของรอยต่อ

ยาแนวรอยต่อ ประเภทโพลียูรีเทน

รุ่นผลิตภัณฑ์ การใช้งาน
Sikaflex®-740 Construction กาวยาแนวรอยต่อเคลื่อนตัวและรอยต่อโครงสร้างทั่วไป
Sikaflex®-11 FC+ กาวยาแนวรอยต่อและยึดติดอเนกประสงค์
Sikaflex® PRO-3 สำหรับงานยาแนวรอยต่อในงานพื้น ทนทานต่อแรงทางกล และทนต่อสารเคมี 

ยาแนวรอยต่อ ประเภทอะคริลิค

รุ่นผลิตภัณฑ์ การใช้งาน
Lanko 612 สำหรับอุดรอยต่อ ใช้ในงานภายใน
Sikacryl®-620 Fire           ยาแนวรอยต่อทนไฟ สำหรับรอยต่อเชิงเส้นในผนังและพื้น