09/11/2022
งานยาแนวรอยต่อ

พียูโฟม (PU Foam) คือ โฟมประเภทโพลียูรีเทนในรูปแบบสเปรย์โฟม ใช้ปิดช่องว่างรูโพรงต่าง ๆ บริเวณโครงหลังคา รอยต่อวงกบหน้าต่างและประตู ท่อแอร์ ท่อระบายอากาศ ท่อระบายน้ำ ใช้เป็นฉนวนกันความร้อน ความเย็น กันเสียงสะท้อน และกันน้ำซึมผ่าน มีคุณสมบัติขยายตัวสูง ใช้งานง่ายด้วยหัวฉีดวาล์ว สามารถตัดแต่งและทาสีทับได้ เมื่อฉีดออกมาเนื้อโฟมจะมีลักษณะคล้ายมูส และแข็งตัวเมื่อสัมผัสกับความชื้นในอากาศ พียูโฟมจึงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในงานก่อสร้าง และงาน DIY อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและการใช้งานพียูโฟม ซิก้า จะมาไขข้อสงสัยกับคำถามที่พบบ่อยๆ

การเตรียมก่อนใช้งานพียูโฟม

ทำไมต้องเขย่ากระป๋องพียูโฟมก่อนใช้งาน?

เพราะการเขย่าจะทำให้ส่วนประกอบเป็นเนื้อเดียวกัน และผลิตภัณฑ์ได้คุณสมบัติการใช้งานที่ดีที่สุด แนะนำให้เขย่ากระป๋องพียูโฟมก่อนใช้งาน อย่างน้อย 20 ครั้ง เพื่อให้ส่วนผสมในกระป๋องเข้ากันอย่างดี  หากหยุดหรือไม่ใช้งานสเปรย์โฟมเป็นเวลานาน ควรเขย่ากระป๋องซ้ำอีกครั้งก่อนเริ่มใช้งานใหม่

ต้องฉีดพ่นน้ำก่อนใช้งานพียูโฟมหรือไม่?

สำหรับพียูโฟมส่วนประกอบเดียว ต้องฉีดพ่นน้ำสะอาดบนพื้นผิวให้เปียกชื้นก่อนใช้งาน เพื่อให้โฟมขยายตัวอย่างเต็มที่และแข็งตัวดี และป้องกันไม่ให้โฟมขยายตัวเพิ่มภายหลัง เนื่องจากเนื้อโฟมจะขยายตัวจากการทำปฏิกิริยาของความชื้นในอากาศและพื้นผิว ส่วนพียูโฟมชนิด 2 ส่วนประกอบ ไม่ต้องทำให้เปียกชื้นก่อนใช้งาน

มีข้อแนะนำอื่นๆ ในการใช้งานพียูโฟมเพิ่มเติมหรือไม่?

มีข้อแนะนำในการใช้งานพียูโฟมเพิ่มเติม ดังนี้

  • ควรสวมถุงมือระหว่างใช้งาน เนื่องจากโฟมมีความเหนียวมาก
  • ควรสวมแว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันโฟมเข้าตา
  • ควรใช้งานพียูโฟมในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทที่ดีตลอดเวลา
     

การใช้งานพียูโฟม

สามารถใช้พียูโฟมสำหรับงานภายนอกได้หรือไม่?

สามารถใช้พียูโฟมกับงานภายนอกได้ แต่ต้องมีการทาสีทับหรือเคลือบโฟมที่แข็งตัวแล้วเพื่อป้องกันรังสียูวี

พียูโฟมสามารถยึดติดกับพื้นผิวอะไรได้บ้าง?

พียูโฟมยึดติดได้ดีกับวัสดุก่อสร้างทั่วไป คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ปูน อิฐ ไม้ พลาสติก และอื่นๆ โดยมีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • พื้นผิวที่ใช้งานจะต้องสะอาด แห้ง แน่น และปราศจากคราบน้ำมัน จาระบี ฝุ่น คราบสีที่มีการทำสีไว้ และเศษปูนที่หลุดล่อนและไม่แข็งแรง
  • ห้ามใช้สเปรย์โฟมกับพื้นผิวประเภทซิลิโคน น้ำมันและจารบี โพลีเอทิลีน หรือเทฟลอน
จำเป็นต้องใช้พียูโฟมให้หมดกระป๋องในครั้งเดียวหรือไม่?

สำหรับพียูโฟมส่วนประกอบเดียว เช่น Sika Boom®-AP ที่เปิดใช้งานแล้ว สามารถเก็บไว้ใช้คราวต่อไปได้ โดยใส่หัวฉีดค้างไว้บนกระป๋อง

สำหรับพียูโฟมชนิด 2 ส่วนประกอบ ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ภายในเวลาที่ระบุไว้บนกระป๋องหรือเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ เนื่องจากส่วนประกอบที่ 2 มีน้ำอยู่ โฟมจึงเริ่มแข็งตัวในกระป๋อง

คลิกเพื่อชมวิธีการเก็บรักษาสเปรย์โฟมและนำกลับมาใช้ใหม่

โฟมทำให้เกิดแรงดันในระหว่างเวลาที่ขยายตัวจนแข็งตัวเต็มที่ใช่หรือไม่?

การใช้งานพียูโฟมกับบริเวณที่ติดตั้งวงกบหน้าต่าง หรือประตู ใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากระหว่างพียูโฟมกำลังทำงาน จะเกิดแรงดันและการขยายตัว

พียูโฟมจะใช้เวลาแห้งและแข็งตัวนานเท่าไหร่?

โดยทั่วไปพียูโฟมจะใช้เวลาแห้งและแข็งตัว ประมาณ 12-24 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณของโฟม) จากนั้นสามารถตัดแต่งโฟมและทาสีทับตามที่ต้องการได้

เนื้อโฟมส่วนเกินที่ล้นออกมา จะทำความสะอาดอย่างไร?

หากเนื้อโฟมยังไม่แห้ง เพียงใช้น้ำยาอะซิโตน หรือ แอซีโทน (Acetone) เช็ดทำความสะอาด ส่วนเนื้อโฟมที่แห้งและแข็งตัวแล้ว สามารถเอาออกได้ โดยใช้เครื่องมือตัดแต่ง

ทำไมเนื้อโฟมที่แห้งและแข็งตัวแล้ว จึงแห้งกรอบและเปลี่ยนสี?

เมื่อเนื้อโฟมที่แห้งและแข็งตัวถูกแสงแดดโดยตรง อาจแห้งกรอบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงแดดและระยะเวลาที่สัมผัส

คุณสมบัติของพียูโฟม

ข้อดีของพียูโฟม คืออะไร?

พียูโฟม แห้งและแข็งตัวเร็ว มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน ความเย็น และกันเสียงสะท้อนที่ดีเยี่ยม ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี โฟมที่แห้งและแข็งตัวแล้ว สามารถตัดแต่งและทาสีทับได้ 

พียูโฟมเหมาะสำหรับใช้เป็นฉนวนกันความร้อนใช่หรือไม่?

ใช่ เนื่องจากมีค่าการนำความร้อนอยู่ที่ประมาณ 0.04 W/mK ซึ่งตรงกันกับค่าโดยประมาณของแผ่นฉนวนกันความร้อน XPS หรือ EPS

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บและใช้งานพียูโฟม คือเท่าใด?

แนะนำให้จัดเก็บกระป๋องพียูโฟมที่อุณหภูมิระหว่าง +5 °C ถึง +25 °C ระวังอย่าให้กระป๋องถูกแสงแดดโดยตรง หรืออยู่ภายใต้อุณหภูมิสูงกว่า +50 °C เพราะอาจทำให้เกิดแรงดันเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้กระป๋องระเบิดได้ หากอุณหภูมิกระป๋องต่ำ จะทำให้โฟมมีความหนืดมากขึ้น
สำหรับพียูโฟมที่แข็งตัวแล้ว สามารถทนต่ออุณหภูมิระหว่าง –40 °C ถึง +80 °C ได้เป็นเวลานาน และในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถทนต่ออุณหภูมิสูงถึง +100 °C โดยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ

ความแตกต่างระหว่างพียูโฟมส่วนประกอบเดียว และ 2 ส่วนประกอบ คืออะไร?

แตกต่างกันที่ปัจจัยในการแข็งตัว โดยพียูโฟมส่วนประกอบเดียว แข็งตัวจากความชื้นในอากาศและพื้นผิว ส่วนพียูโฟม 2 ส่วนประกอบ การแข็งตัวเกิดจากปฏิกิริยาเคมีของสารสองชนิดที่ผสมกันในกระป๋องก่อนใช้งานหรือระหว่างใช้งาน