13/08/2021
แผ่นคอนกรีตและพื้นจัดเป็นส่วนโครงสร้างที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้การปฏิบัติงานในพื้นที่อาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดอุปสรรคในการทำงาน อย่างไรก็ตาม อาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบ การทำแบบรายละเอียดก่อสร้าง และการก่อสร้างองค์อาคารพื้นคอนกรีตเท่าที่ควร อาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์ส่วนใหญ่พยายามปรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการสร้างองค์อาคารพื้นคอนกรีตให้ต่ำที่สุดรวมถึงมีความคาดหวังว่าองค์อาคารพื้นคอนกรีตที่ได้จะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการซ่อมบำรุงในระยะยาว
หน้าที่ของแผ่นพื้น
พื้นสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นรับน้ำหนักบรรทุกกระทำระหว่างที่มีการปฏิบัติงานรวมถึงรองรับการเสียดทานและการขัดสีจากอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย แผ่นพื้นคอนกรีตสามารถกระจายน้ำหนักบรรทุกได้โดยไม่มีการเสียรูปหรือการเกิดรอยร้าวของผิวพื้นด้านที่สัมผัสกับฐานพื้นดินสำหรับกรณีที่เป็นแผ่นพื้นแบบวางบนดิน ในขณะที่พื้นแบบวางบนเสาเข็ม ผู้ออกแบบต้องคำนวณและออกแบบให้พื้นมีการถ่ายแรงสู่ฐานรองรับตามหลักวิศวกรรม
ข้อกำหนดในข้างต้นต้องนำไปปฏิบัติเพื่อการออกแบบพื้นสำหรับอาคารพาณิชย์ พื้นถนนในงาน หรือพื้นในส่วนโครงสร้างอื่น ระบบพื้นที่ได้ต้องมีประสิทธิภาพดี มีความเหมาะสมกับการฟังก์ชันการใช้งานของโครงสร้างที่หน้างาน รายการตรวจสอบต่อไปนี้จะให้รายละเอียดในส่วนสำคัญเพื่อใช้พิจารณาออกแบบพื้นคอนกรีตสำหรับอาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม แนวทางการก่อสร้างพื้นอาจมีความแตกต่างกันตามประเภทการใช้งานของโครงสร้างอาคารซึ่งเป็นสิ่งที่วิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึง
ข้อกำหนดทั่วไปของพื้นอาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์
- แผ่นพื้นต้องรองรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการปฏิบัติงานได้โดยไม่เกิดรอยร้าวและการเสียรูป
- รอยต่อระหว่างแผ่นพื้นในส่วนที่สามารถสัมผัสกับสภาพแวดล้อมได้ ต้องลดจำนวนลงให้มีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- รอยต่อเผื่อการเคลื่อนที่ของแผ่นพื้น ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ความเร็วของเครื่องจักรและยานพาหนะเพื่อปฏิบัติงาน
- แผ่นพื้นต้องมีความคงทนเพียงพอต่อการต้านทานการสึกกร่อนและผิวพื้นต้องปราศจากฝุ่นละออง
- ความคลาดเคลื่อนของการก่อสร้างแผ่นพื้นทั้งในแนวระดับและความเรียบของพื้นผิวต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ยอมให้เพื่อให้แผ่นพื้นสามารถปฏิบัติงานในระบบขนถ่ายวัสดุ (material handling system, MHE) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผิวของแผ่นพื้นต้องสามารถทำความสะอาดได้เพื่อใช้ในการปรับความสามารถยึดเหนี่ยวและยึดเกาะของแผ่นพื้นต่อไป
- แผ่นพื้นต้องมีความยืดหยุ่นกับฟังก์ชันการใช้งาน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้งานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
- แผ่นพื้นต้องสามารถใช้ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยเพื่อช่วยสร้างแรงดึงดูดในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร
การรับน้ำหนักของพื้น
แผ่นพื้นคอนกรีตแบบวางบนดินโดยทั่วไป รับน้ำหนักบรรทุก 2 ประเภทคือ น้ำหนักบรรทุกแบบสถิตและน้ำหนักบรรทุกแบบพลวัต ตัวอย่างการรับน้ำหนักบรรทุกแบบสถิตคือ การจัดเก็บกล่องหรือบรรจุภัณฑ์แบบวางทับซ้อนกัน การจัดเก็บอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการจัดเก็บสินค้าและผลิตภัณฑ์โดยใช้ระบบชั้นเก็บสินค้า สำหรับตัวอย่างการรับน้ำหนักบรรทุกแบบพลวัตคือ น้ำหนักบรรทุกเนื่องจากระบบ MHE รวมถึงน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของรถยก รถเคลื่อนย้ายแท่นวางสินค้า และยานพาหนะอื่นที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน
การรับน้ำหนักของพื้นแบบสถิตสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทดังนี้::
การรับน้ำหนักแบบกระจายสม่ำเสมอ
ตัวอย่างของการรับน้ำหนักแบบกระจายสม่ำเสมอที่สามารถพบได้ทั่วไปคือ แท่นไม้สำหรับใช้วางสินค้า ม้วนกระดาษที่วางทับซ้อนกัน น้ำหนักบรรทุกออกแบบขึ้นกับประเภทการใช้งานของโครงสร้าง เช่น องค์อาคารพื้นของอาคารพาณิชย์โดยส่วนใหญ่ผ่านการออกแบบโดยใช้น้ำหนักบรรทุกน้อยกว่าแผ่นพื้นของพื้นที่ปฏิบัติงานในอาคารโรงงานอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีที่มีการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในสายการผลิตลงบนแผ่นพื้น ถือว่ารากฐานรับเครื่องจักรและอุปกรณ์รับน้ำหนักบรรทุกกระจายสม่ำเสมอ นอกจากนี้ วิศวกรผู้ออกแบบต้องพิจารณาหาแนวทางเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนกระทำต่อฐานรากเนื่องจากการใช้งานเครื่องจักรร่วมด้วย
ตัวอย่าง:
• การจัดเก็บกล่องหรือบรรจุภัณฑ์แบบวางทับซ้อนกัน
• การรับน้ำหนักจากการจัดวางเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
• การรับน้ำหนักจากการใช้งานพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ทั่วไปและการใช้งานพื้นที่เพื่อสันทนาการ
การรับน้ำหนักแบบจุด
การรับน้ำหนักแบบจุดเกิดขึ้นจากส่วนโครงสร้างหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งบนฐานรองรับระบบขนถ่ายวัสดุ ระบบสายพานลำเลียงแบบยึดแน่นถือเป็นอีกระบบที่ให้การรับน้ำหนักแบบจุดที่สามารถเคลื่อนที่ได้ นอกเหนือจากน้ำหนักบรรทุกกระทำแบบจุด วิศวกรผู้ออกแบบต้องพิจารณาผลของการแรงสั่นสะเทือนร่วมด้วย การรับน้ำหนักแบบจุดที่พบได้บ่อยที่สุดคือน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากระบบชั้นวางของ สำหรับระบบชั้นวางของทั่วไป เส้นทางที่ใช้ในการถ่ายน้ำหนักบรรทุกไปสู่แผ่นพื้นคือแผ่นเหล็กที่ฐานรองรับระบบขนถ่ายวัสดุ เนื่องจากแผ่นเหล็กที่ฐานรองรับมีพื้นที่รับหน่วยแรงน้อยกว่าพื้นที่ของพื้น ส่งผลให้แผ่นเหล็กที่ฐานรองรับส่วนใหญ่ต้องยึดรั้งกับพื้นโดยใช้สลักเกลียวเพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนักบรรทุก
ตัวอย่าง:
- ที่นั่งในสนามกีฬา
- อาคารชั้นวางหุ้ม
- ฐานรองรับชั้นลอย
- ฐานรองรับเครื่องจักร
- แท่นยึดเครน
- ฐานรองรับของระบบชั้นเก็บสินค้า
- น้ำหนักบรรทุกจากล้อยานพาหนะที่ใช้ในระบบ MHE
การรับน้ำหนักตามยาว
ตัวอย่างของน้ำหนักบรรทุกกระจายตามความยาวพื้น คือน้ำหนักของผนังกั้นแยกส่วนการปฏิบัติงานซึ่งวางอยู่บนแผ่นพื้น การคำนวณค่าน้ำหนักบรรทุกกระจายตามความยาวจะพิจารณาเป็นหน่วยแรงต่อความยาว สำหรับระบบการจัดวางสินค้าหรืออุปกรณ์บางประเภทที่ติดตั้งบนรางขนถ่ายวัสดุถือเป็นน้ำหนักบรรทุกกระจายตามความยาวที่ต้องพิจารณาออกแบบให้กระทำบนพื้นตามสภาพหน้างานจริง ลักษณะการกระจายของน้ำหนักบรรทุกตามความยาวสามารถเป็นได้ทั้งแบบสม่ำเสมอตลอดความยาว สม่ำเสมอเป็นช่วง แปรผันเชิงเส้น หรือรูปแบบอื่นที่สอดคล้องกับหน้างานจริง
ตัวอย่าง:
- ระบบชั้นเก็บสินค้าแบบเคลื่อนที่ได้
- ผนังกั้นห้อง
- รางขนถ่ายวัสดุแบบยึดแน่น
การรับน้ำหนักเนื่องจากการสัญจรกระทำต่อแผ่นพื้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่วิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึง น้ำหนักบรรทุกที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานภายใต้ระบบ MHE จัดเป็นน้ำหนักบรรทุกกระทำแบบจุดร่วมกับน้ำหนักบรรทุกกระทำต่อพื้นแบบพลวัต น้ำหนักบรรทุกดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการสัญจรของรถยก รถเคลื่อนย้ายแท่นวางสินค้า และรถเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ ขั้นตอนการทำงานขนถ่ายวัสดุโดยทั่วไปคือ สินค้าจำนวนมากจะผ่านการรวบรวมจากฝ่ายจัดเก็บเพื่อย้ายไปยังฝ่ายบรรจุภัณฑ์และเข้าสู่กระบวนการจัดส่ง การสัญจรของระบบ MHE สามารถจำแนกได้ 2 ประเภทคือ ระบบ MHE ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่โล่ง สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ และระบบ MHE ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่แคบ
ยานพาหนะที่ใช้ปฏิบัติงานบนแผ่นพื้นสำหรับกรณีทั่วไปในระบบ MHE คือรถเคลื่อนย้ายแท่นวางสินค้า รถเข็นอเนกประสงค์ และรถพ่วง ยานพาหนะเหล่านี้มักมีความจุสูงสุดที่ 3 ตันและวัสดุฐานของล้อยานพาหนะคือโพลียูรีเทนชั้นคุณภาพที่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานได้ น้ำหนักบรรทุกกระทำต่อพื้นเกิดจากผิวสัมผัสระหว่างล้อยานพาหนะและแผ่นพื้น ผิวของแผ่นพื้นที่ยอมให้ใช้ยานพาหนะเพื่อการปฏิบัติงานได้ต้องมีความเรียบและได้ระดับ ยานพาหนะที่กล่าวถึงในข้างต้นสามารถพบได้ในพื้นที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอาหาร ผลิตภัณฑ์ และศูนย์จับเก็บสินค้า รอยต่อเผื่อการหดตัวของแผ่นพื้นต้องได้รับการออกแบบโดยใช้ช่องเปิดขนาดเล็กและอาจเพิ่มเรซินเพื่อให้รอยต่อสามารถรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรได้ ตลอดจนการลดความเสียหายและป้องกันการวิบัติที่รอยต่อภายใต้น้ำหนักบรรทุกใช้งาน
รถยกสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่แคบ (very narrow aisle lift truck, VNA) มีความจำเป็นต้องใช้งานในพื้นที่ที่มีความเรียบและได้ระดับ เพื่อให้การปฏิบัติงานเคลื่อนย้ายและขนถ่ายวัสดุในพื้นที่แคบหรือการทำงานร่วมกับชั้นวางสินค้าที่มีความสูงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุฐานของล้อ VNAคือยางเทียมหรือนีโอพรีนแบบแข็ง VNA ไม่ส่งผลต่อการสึกกร่อนอย่างมีนัยสำคัญของแผ่นพื้นเนื่องจากการเดินรถมีเส้นทางที่แน่นอน จำนวนล้อของ VNA สำหรับกรณีทั่วไปคือ 3 ล้อ เส้นทางการเดินรถโดยทั่วไปคือการใช้รางหรือการใช้สายนำทาง ผิวพื้นของแผ่นพื้นที่ต้องสัมผัสกับ VNA ต้องมีความเรียบและได้ระดับ ไม่ควรมีรอยต่อแผ่นพื้นขนาดใหญ่ ความต่างระดับของแผ่นพื้น หรือความไม่สม่ำเสมอของแผ่นพื้นซึ่งอาจส่งผลกับการทำงานของ VNA สำหรับพื้นที่ปฏิบัติงานแบบกึ่งอัตโนมัติ วิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงการออกแบบแผ่นพื้นในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเลี้ยวโค้งของยานพาหนะร่วมด้วย
สำหรับพื้นที่โล่งที่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ นิยมใช้รถยกแบบมีตัวถ่วงน้ำหนักหรือรถฟอร์คลิฟท์ (forklift) เพื่อจัดการงานในระบบ MHE รถฟอร์คลิฟท์สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่า 10 ตัน ในขณะที่งานในระบบ MHE สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ มีน้ำหนักบรรทุกใช้งานไม่เกิน 4 ตัน ขึ้นกับการกระจายน้ำหนักบรรทุกของสินค้าและวัสดุ สำหรับระดับความสูงเพื่อการปฏิบัติงานของระบบ MHE โดยทั่วไปมีค่าไม่เกิน 7 เมตร ยางรถฟอร์คลิฟท์มีสองระบบคือยางแข็งและยางแบบสูบลมซึ่งช่วยลดหน่วยแรงกระทำต่อผิวองค์อาคารแผ่นพื้นได้ดีกว่าล้อรถยกที่ทำจากยางเทียม ข้อดีของรถฟอร์คลิฟท์คือความสามารถในการปฏิบัติงานบนผิวพื้นที่ไม่เรียบและการสัญจรผ่านช่องเปิดของพื้นซึ่งทำได้ดีกว่ายานพาหนะที่ล้อเป็นยางเทียม อย่างไรก็ตาม ยางรถโฟร์คลิฟท์ที่ความยืดหยุ่นอาจกักเก็บเศษวัสดุหรือเศษเหล็กไว้บนผิวยางและก่อให้เกิดการสึกกร่อนของผิวพื้นได้มากกว่าการสัญจรของยานพาหนะที่ล้อเป็นยางเทียม
การออกแบบโครงสร้างและประเภทของแผ่นพื้น
การออกแบบและก่อสร้างฐานรากพื้นคอนกรีตต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัย แรงกระทำต่อพื้นหรือฐานรองรับแผ่นพื้นมักจะมีค่าไม่มากแข็งแกร่งของแผ่นพื้นคอนกรีตและน้ำหนักบรรทุกจากล้อรถยกหรือขาแร็คสูงจะกระจายไปทั่วพื้นที่ขนาดใหญ่ ดังนั้นพื้นคอนกรีตจึงไม่จำเป็นที่จะต้องการฐานรากที่แข็งแรงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ฐานรากของพื้นควรมีความสม่ำเสมอและเหมาะสม โดยต้องไม่มีช่องว่างหรือการอ่อนตัวอย่างเฉียบพลัน
สำหรับกรณีที่เป็นแผ่นพื้นแบบวางบนดิน ฐานพื้นดินในกลุ่มดินเหนียวและดินตะกอนอาจเป็นชั้นดินประเภทที่สร้างผลกระทบในระยะยาวได้หากดินมีคุณสมบัติการขยายตัวสูงหรือมีความสามารถบีบอัดได้สูง ส่งผลให้สภาพยึดรั้งของฐานรองรับองค์อาคารพื้นขาดความสม่ำเสมอของสติฟเนส วิศวกรผู้ออกแบบต้องทำการจำแนกชั้นดินเพื่อหลักเลี่ยงปัญหาในข้างต้นโดยทำรายงานการตรวจสอบชั้นดินซึ่งจัดเป็นตัวแปรสำคัญเพื่อการออกแบบส่วนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและแสดงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพดินที่เหมาะสมกับสภาพหน้างานจริง
ข้อมูลชั้นดินและค่าน้ำหนักบรรทุกที่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริงของโครงสร้างถือเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อการออกแบบองค์อาคารแผ่นพื้นคอนกรีตแบบวางบนดิน แผ่นพื้นสามารถพิจารณาออกแบบได้ 2 แนวทางคือ แผ่นพื้นแบบวางบนดิน และแผ่นพื้นแบบวางบนเสาเข็ม ในกรณีที่เกิดปัญหาการอัดตัวคายน้ำแบบพลาสติกของดิน วิศวกรผู้ออกแบบอาจต้องเลือกใช้ระบบแผ่นพื้นแบบวางบนเสาเข็มซึ่งฐานรองรับองค์อาคารแผ่นพื้นอาจเป็นได้ทั้งเสาเข็มหรือคานคอดิน
การออกแบบองค์อาคารแผ่นพื้นทั้งสองระบบสามารถเสริมกำลังต้านทานแรงดึงของพื้นคอนกรีตได้โดยใช้ตะแกรงเหล็ก ระบบคอนกรีตเสริมเส้นใย หรือระบบเหล็กอัดแรงภายหลัง ในขณะที่ปัจจุบัน ระบบแผ่นพื้นแบบวางบนดินกำลังนิยมใช้เทคโนโลยีคอนกรีตเสริมเส้นใยโพลีโพรพีลีนเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถต้านทานแรงดึงขององค์อาคารแผ่นพื้น
ข้อกำหนดการออกแบบรอยต่อ
สำหรับอาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์ที่มีน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของยานพาหนะอย่างหนาแน่นหรือมีความถี่ของการใช้งานยานพาหนะบ่อย ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพส่วนโครงสร้างและซ่อมแซมรอยร้าวที่เกิดขึ้นเพื่อให้พื้นอาคารสามารถใช้งานได้ยาวนานและมีความปลอดภัยภายใต้ทุกสภาวะการปฏิบัติงาน ปัจจัยที่มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดรอยร้าวที่รอยต่อส่วนโครงสร้างคือ การออกแบบส่วนผสมคอนกรีตที่เหมาะสม การใช้เหล็กเสริมคอนกรีตเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถต้านทานแรงดึงของคอนกรีต การบ่มที่มีความเหมาะสมกับสภาพหน้าจริง และระยะห่างระหว่างรอยต่อที่เหมาะสม สำหรับสาเหตุของการเกิดรอยร้าวในคอนกรีตคือหน่วยแรงดึงในแผ่นพื้นคอนกรีตมีค่ามากกว่ากำลังต้านทานแรงดึงประลัยของคอนกรีต ซึ่งรอยร้าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเสื่อมสภาพของแผ่นพื้นอาคารอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคารและอาจทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้น ต้องซ่อมแซมส่วนโครงสร้างที่เกิดรอยร้าวโดยใช้เรซินแบบกึ่งแข็งเพื่อให้องค์อาคารแผ่นพื้นอาคารสามารถรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของยานพาหนะได้อย่างปลอดภัย
รอยต่อเผื่อการเคลื่อนที่สำหรับโครงสร้างทั่วไปจะใช้วัสดุยาแนวที่มีความยืดหยุ่นสูง ในทางปฏิบัติไม่นิยมจัดทำรอยต่อเผื่อการเคลื่อนที่ในพื้นอาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์กรณีที่มีน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม การจัดทำรอยต่อพื้นสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของยานพาหนะต้องพิจารณาเลือกใช้รอยต่อแบบพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ต่อเนื่องของระดับพื้นและให้การปฏิบัติงานของยานพาหนะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในทางทฤษฎี รอยต่อเผื่อการหดตัวจัดทำขึ้นเพื่อรับการเคลื่อนที่ของโครงสร้างเนื่องจากเกิดจากการหดตัวของแผ่นพื้นคอนกรีตในขั้นตอนการบ่ม แต่ในทางปฏิบัติ รอยต่อดังกล่าวยังสามารถเคลื่อนที่ได้เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงระดับความชื้น รอยต่อที่จัดทำขึ้นจากใบเลื่อยต้องนำมาติดตั้งในพื้นที่ที่มีน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของยานพาหนะ ในกรณีที่ไม่ใช้รอยต่อที่จัดทำขึ้นจากใบเลื่อย ล้อของยานพาหนะที่มีวัสดุฐานเป็นยางเทียมอาจก่อให้เกิดการวิบัติของขอบรอยต่อ นอกจากนี้ รอยต่อที่เกิดรอยร้าวสามารถซ่อมแซมได้โดยใช้เรซินแบบกึ่งแข็ง
ความสามารถต้านทานการสึกกร่อนถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่บ่งชี้ความสามารถของผิวพื้นองค์อาคารพื้นในการต้านทานการเสื่อมสภาพของผิวพื้นเนื่องจากการเสียดสี การกลิ้ง การเลื่อนไถล การตัด และการกระแทก การสึกกร่อนของผิวพื้นของผิวพื้นองค์อาคารในแต่ละโครงสร้างจะมีกลไกการเกิดที่แตกต่างกัน ภายใต้สภาวะที่มีการปฏิบัติงานอาจเกิดการสึกกร่อนที่มีความซับซ้อนซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างน้ำหนักบรรทุกในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น การสัญจรของยานพาหนะ การเดินของผู้ปฏิบัติงาน และการขูดผิวพื้นโดยบังเอิญระหว่างขั้นตอนการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม การเสื่อมสภาพของผิวพื้นเนื่องจากการสึกหรออาจเกิดจากการที่คอนกรีตมีกำลังรับแรงอัดประลัยต่ำกว่าค่าที่กำหนดหรือผิวพื้นมีความอ่อนแอเนื่องจากข้อบกพร่องระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง
สารเคลือบผิวพื้นคอนกรีต สารละลายเคลือบผิวพื้น และสารเคลือบผิวประสิทธิภาพสูง ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเพื่อให้ผิวองค์อาคารแผ่นพื้นมีความสามารถต้านทานการสึกกร่อนได้ดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานองค์อาคารแผ่นพื้นให้สามารถตอบสนองความต้องการของการใช้งานจริงได้มากที่สุดและองค์อาคารแผ่นพื้นมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดการออกแบบตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในสากล
ความสามารถต้านทานการสึกกร่อนของผิวพื้นขึ้นอยู่สัดส่วนผสมของคอนกรีต ความแข็งและความแกร่งของคอนกรีตทับหน้า รวมถึงลักษณะการเคลือบผิวพื้น ความสามารถต้านทานการสึกกร่อนและน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากแรงกระแทกสามารถประเมินได้จากการทดสอบผิวคอนกรีต มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในสากลซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความสามารถต้านทานการสึกกร่อนของผิวพื้น ค่าระดับสมรรถนะความต้านทานการสึกกร่อน เงื่อนไขของผิวพื้นคอนกรีตที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพการใช้งานคือมาตรฐาน EN BS 8204-2:2002 มาตรฐาน ASTM C779 และมาตรฐาน ASTM C944
ถึงแม้ว่าคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความพรุนและมีสามารถต้านทานสารเคมี แต่สารอินทรีย์และแร่ธาตุอาจทำปฏิกิริยากับคอนกรีตและส่งผลต่อการกัดกร่อนผิวพื้นคอนกรีตได้ ตัวอย่างสารเคมีที่อาจทำลายผิวพื้นคอนกรีตได้ในระยะยาวคือ สารประกอบในอาหาร น้ำมัน และสารเคมีอื่นซึ่งอาจพบได้ในพื้นที่ประกอบอาหารหรืออาคารประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม องค์อาคารพื้นต้องได้รับการปกป้องผิวเพื่อให้มีความสามารถต้านทานสารเคมีและสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง
การแต่งผิวพื้นคอนกรีตให้มีความเรียบและสม่ำเสมอเหมือนชั้นสารเคลือบผิวพื้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากเนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุคอมโพสิตที่เกิดการรวมกันของวัสดุย่อยหลายชนิด ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผิวคอนกรีตได้เทียบเท่ากับแผ่นพื้นคอนกรีตหล่อสำเร็จที่ผ่านการผลิตจากโรงงาน
แผ่นพื้นคอนกรีตทั่วไปมีสีเทา ในขณะที่วิธีการผลิตและก่อสร้างแผ่นพื้นคอนกรีตในหน้างานจริงอาจทำให้แผ่นพื้นคอนกรีตมีสีที่แตกต่างกัน การปรับแต่งสีผิวของแผ่นพื้นคอนกรีตอาจทำได้โดยการใช้สารเคลือบผิวพื้นคอนกรีตที่มีส่วนผสมของรงควัตถุ การเติมสารเคมีที่มีส่วนผสมของสีลงในส่วนผสมคอนกรีต การใช้สารละลายกรด หรือการใช้สีย้อมน้ำ ด้วยนวัตกรรมล่าสุดในปัจจุบัน สารเคลือบผิวพื้นคอนกรีตจะมีรงควัตถุซึ่งเป็นเม็ดสีเนื้อละเอียดลอยอยู่ สามารถนำไปผสมให้เข้ากับน้ำได้ในหน้างานเพื่อนำไปเคลือบผิวพื้นคอนกรีตและเสริมภาพลักษณ์ของแผ่นพื้นต่อไป การทำให้พื้นเป็นเฉดสีอ่อนเช่น สีเหลือง สีเบจ สีเทาอ่อน หรือสีขาว ช่วยเพิ่มความสามารถการสะท้อนแสงและเพิ่มความสว่างในห้อง อันจะนำไปสู่การลดความต้องการแสงสว่างและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการก่อสร้างอย่างยั่งยืนสำหรับโครงสร้างทุกประเภทโดยเฉพาะโครงสร้างอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่
รอยบนผิวพื้นที่เกิดจากเครื่องมือโบกปูนและการเปลี่ยนสีของผิวพื้นจากการขัดพื้นเกิดจากความบกพร่องของทักษะการแต่งผิวคอนกรีตของผู้ปฏิบัติงาน เหตุการณ์ที่เป็นไปได้คือผู้ปฏิบัติงานใช้เครื่องมือโบกปูนปาดแต่งผิวมากเกินไป นอกจากนี้ การบ่มคอนกรีตมากเกินความจำเป็นอาจทำให้ผิวพื้นคอนกรีตเกิดบริเวณที่มีสีเข้มกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม สีผิวพื้นคอนกรีตที่มีความผิดปกติตามที่กล่าวไว้สามารถหายไปเองได้ตามกาลเวลาและการใช้งานของพื้น
ข้อคิดเห็น
เพื่อให้พื้นอาคารคลังสินค้าและโลจิสติกส์สามารถใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการก่อสร้าง ต้องทำการออกแบบพื้นโดยคำนึงถึงความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุก การควบคุมรอยร้าว การทำรอยต่อพื้นตามที่ให้รายละเอียดในแบบการควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง โดยให้ค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมให้ และการพิจารณาความสามารถต้านทานการสึกหรอ สำหรับข้อบกพร่องเนื่องจากการให้รายละเอียดในเอกสารประกอบแบบหรือทักษะของผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างอาจส่งผลต่อคุณภาพของพื้น เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเจ้าของโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำแผนงานและวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาการดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างพื้นโดยคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน ความคงทน และความคุ้มค่าเป็นหลัก
ผู้เขียน
Ari Tanttu
Market Development Manager
Target Market Flooring
Sika Services AG