09/08/2021
งานพื้นอุตสาหกรรม

วัตถุประสงค์และการใช้งานของพื้นเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมการผลิตที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะในโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม พื้นต้องสะอาดถูกหลักอนามัย ไม่ลื่น ทำความสะอาดง่าย มีความคงทน เพื่อให้พื้นที่ทำงานมีความปลอดภัยและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี การเลือกพื้นและการติดตั้งที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับทุกสภาพการทำงาน บทความนี้กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาเลือกใช้และติดตั้งพื้นสำหรับพื้นที่ที่มีการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้พื้นมีความเหมาะสมกับสภาพการทำงานและสามารถใช้งานได้ยาวนาน

เรียนรู้เพิ่มเติม:

การออกแบบผิวพื้น และการปาดพื้นผิวคอนกรีต
Cementitious Flooring Screed Application
รูปภาพ: Application of the cementitious fast curing Sikafloor® HardTop-80 flooring screed.

การออกแบบพื้นผิว เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งหมดของพื้นที่การผลิต รวมทั้งเสา ผนัง อุปกรณ์ และท่อระบายน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบโดยรวมของอาคาร องค์ประกอบทั้งหมดรวมกันจะส่งผลต่อการติดตั้งพื้นผิวและตำแหน่งที่จะกำหนดรอยต่อของพื้น
โดยทั่วไปพื้นที่ถูกสุขลักษณะจะติดตั้งบนพื้นคอนกรีตเทในที่เทโดยตรงลงบนพื้นดินอัดแน่นหรือยกขึ้นเหนือจากผิวดิน
ปกติการปาดแผ่นพื้นที่หนาไม่เท่ากันใช้ในการทำให้นำไหลออก หรือเพื่อทำพื้นคอนกรีตใหม่ในโครงการปรับปรุง การปาดพื้น Fully-bonded screeds ตามโครงสร้างรอยต่อในพื้นคอนกรีตและทั่วๆไป มีความหนาไม่เกิน 75 มม. สำหรับ Non-bonded screeds จะหนามากกว่า
การออกแบบแผ่นพื้นที่ดีนั้นจะมีจำนวนรอยต่อน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และกำหนดตำแหน่งรอยต่อให้อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายที่ต่ำ

รอยต่อ
Floor joint in hospital floor

วัตถุประสงค์ของการทำรอยต่อบนผิวพื้นคือ ช่วยปรับการเคลื่อนที่ของผิวพื้นภายใต้น้ำหนักบรรทุกใช้งานให้เท่ากับการเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้นในองค์อาคารพื้น โดยทั่วไป ขนาดและสติฟเนสของรอยต่อพิจารณาจากการเคลื่อนที่ของระบบโครงสร้างอาคาร

รอยต่อถือเป็นจุดอ่อนหนึ่งของผิวพื้น แม้ในสภาวะที่ผิวพื้นรับหน่วยแรงเนื่องจากการกัดกร่อนของสารเคมี บริเวณที่เป็นรอยต่อของผิวพื้นจะมีความสามารถต้านทานสารเคมีต่ำกว่าบริเวณผิวพื้นโดยรอบที่ผ่านการแต่งผิว

รอยต่อเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ทั้งในกระบวนการก่อสร้างปกติและการเคลือบผิวพื้น แต่ผู้ปฏิบัติงานสามารถลดจำนวนรอยต่อให้น้อยที่สุดได้ ผู้ปฏิบัติงานควรจัดวางตำแหน่งของรอยต่อให้ห่างจากพื้นที่เสี่ยงต่อการรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรที่มีความหนาแน่นสูง รอยต่อสามารถจัดวางใกล้กับบริเวณที่อุณหภูมิมีความแปรปรวนสูงได้เพื่อปล่อยให้ผิวพื้นเกิดการเคลื่อนที่รวมอย่างอิสระ รวมถึงการจัดวางรอยต่อไว้ในที่สูงเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความชื้น นอกจากนี้ ควรจัดให้รอยต่อมีการแสดงรายละเอียดอย่างเหมาะสมเพื่อให้รอยต่อสามารถต้านทานหน่วยแรงเนื่องจากการสัญจรได้ และขอแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานพิจารณาเลือกใช้รอยต่อแบบสำเร็จรูป

รางระบายน้ำ และจุดเชื่อมต่อ
Channels and drains used in industrial flooring

รางระบายน้ำและตะแกรงระบายน้ำสามารถจัดวางไว้ใกล้กันได้ ห้ามจัดวางรางระบายน้ำและตะแกรงระบายน้ำในลักษณะทับซ้อนกัน เพื่อให้ผู้ดูแลอาคารและผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าไปดำเนินการทำความสะอาดและซ่อมบำรุงระบบระบายน้ำได้ การเคลื่อนย้ายของเหลวจากพื้นไปยังท่อระบายน้ำ ทำได้ดีที่สุดโดยใช้การไหลลงจากพื้นทีละน้อยซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงด้วยความชันตามที่แนะนำ
เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีมาตรฐานสากลที่กำหนดค่าความลาดชันของทางระบายน้ำในพื้นที่ที่มีการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม จึงแนะนำให้ใช้ค่าความลาดชัดสำหรับกรณีทั่วไปซึ่งมีอยู่ระหว่าง 1:100 และ 1:80

ทางระบายน้ำในแนวดิ่ง ทางระบายน้ำในแนวระดับ และส่วนที่มีลักษณะเป็นรอยต่อโครงสร้างส่งผลต่อจำนวนรอยต่อพื้นและแนวทางการจัดวางรอยต่อพื้น บริเวณที่ไม่จำเป็นต้องมีรอยต่อคือส่วนที่มีลักษณะเป็นรอยต่อโครงสร้างที่อยู่ใกล้กับตะแกรงระบายน้ำรูปวงกลม ในทางกลับกัน บริเวณที่จำเป็นต้องมีรอยต่อคือส่วนที่มีลักษณะเป็นรอยต่อโครงสร้างระหว่างรางระบายน้ำทางยาวที่หน้ากว้างค่อนข้างแคบและพื้นที่บริเวณที่เสี่ยงต่อการรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรที่มีความหนาแน่นสูง หรือมีการเคลื่อนย้ายมวลสารความร้อนสูง หรือเกิดน้ำหนักบรรทุกที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่มาก อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนที่ของพื้นสามารถควบคุมได้โดยเพิ่มฐานรองรับรางระบายน้ำผ่านการยึดโยงเข้ากับโครงสร้างคอนกรีตตามดุลยพินิจของวิศวกรผู้ออกแบบ นอกจากนี้ ทางระบายน้ำในแนวดิ่งควรพิจารณาเลือกใช้รางระบายน้ำแบบยาว

การตกแต่งพื้นผิว

การก่อสร้าง ติดตั้งสารเคลือบผิวพื้นโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในสากล ผิวพื้นต้องทำความสะอาดง่าย ถูกหลักสุขภาพศาสตร์ ไม่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากการคำนึงถึงความสวยงามของพื้น ผิวพื้นควรมีคุณสมบัติป้องกันการลื่น ป้องกันอุบัติเหตุจากการล้ม และมีความสวยงาม พื้นต้องมีความคงทนต่อหน่วยแรงกัดกร่อนเนื่องจากสารเคมีเข้มข้นที่ใช้ในการทำความสะอาดพื้น มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอต่อการรับน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของรถยก น้ำหนักบรรทุกกระแทก ตลอดจนน้ำหนักบรรทุกเนื่องจากความแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน

ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับผิวพื้นในโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มอ้างอิงตามระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร (European Food Safety Directive) เลขที่คำสั่ง 852/2004 มีใจความดังนี้:

“ผิวพื้นต้องได้รับการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดีเสมอ ผิวพื้นต้องทำความสะอาดง่ายและต้องจัดให้มีการฆ่าเชื้อโรคหากจำเป็น วัสดุที่ใช้ทำผิวพื้นต้องไม่มีสารพิษเจือปน ทำความสะอาดได้ง่าย รวมถึงมีคุณสมบัติต้านทานการซึมผ่านและดูดซับสารเคมี ยกเว้นในกรณีที่ใช้วัสดุทำผิวพื้นที่ต่างจากข้อบังคับนี้ ผู้ประกอบธุรกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องเลือกใช้วัสดุที่เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายท้องถิ่น ณ ที่ตั้งสถานประกอบการ นอกจากนี้ พื้นต้องมีคุณสมบัติการระบายน้ำที่ผิวพื้นได้อย่างเหมาะสมด้วย”

แนวคิดหลักของข้อบังคับในข้างต้นรวมถึงข้อบังคับในส่วนอื่นที่ไม่ได้แสดงไว้ ณ ที่นี้ ถือว่ามีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนหากเจ้าของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานฝ่ายอาคารและสถานที่ของโรงงานอาหารและเครื่องดื่มเล็งเห็นความสำคัญของการซ่อมบำรุง ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคพื้น มิฉะนั้น ผิวพื้นและองค์อาคารพื้นอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายได้ เชื้อก่อโรคทั่วไปที่พบบนพื้นในสถานที่ประกอบอาหารและเครื่องดื่มคือแบคทีเรียลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผิวพื้นไม่ได้รับการบำรุงรักษา ทำความสะอาด และจัดการฆ่าเชื้อโรคโดยวิธีที่เหมาะสม

เหตุการณ์ในข้างต้นเคยเกิดขึ้นเป็นโศกนาฏกรรมในปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งเบื้องต้นไม่มีรายงานตรวจพบแบคทีเรียสายพันธุ์ดังกล่าวในเครื่องจักรและส่วนอื่นในสายการผลิตของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ แต่เมื่อแบคทีเรียเจริญขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 รายและมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 12 คน

มีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นอีกมากที่ไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าผิวพื้นโรงงานไม่ได้สัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่ม จึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดของผิวพื้น ความเชื่อนี้ถือว่ามีความเสี่ยงมากเนื่องจากแบคทีเรียและจุลินทรีย์สามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้หยดน้ำ อนุภาคในอากาศ หรือวิธีอื่นเพื่อเคลื่อนที่จากผิวพื้นไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ของอาหารและเครื่องดื่มในสายการผลิตของโรงงาน

ความต้านทานการซึมผ่านของน้ำ

คุณสมบัติสำคัญของพื้นที่เป็นไปตามหลักสุขภาพศาสตร์คือ พื้นต้องทำความสะอาดง่าย ปราศจากแบคทีเรียและเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ พื้นต้องไม่มีความพรุนเพื่อต้านทานการไหลผ่านของน้ำ การเลือกใช้ผิวพื้นที่เป็นเรซินความหนาแน่นสูงถือเป็นหนึ่งในแนวทางทำให้พื้นไม่มีรูพรุน เรซินบางชนิดที่ใช้ทำผิวพื้นอาจก่อตัวขึ้นร่วมกับมวลรวมอื่นได้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มมวลรวมเข้ากับเรซินต้องทำด้วยความระมัดระวัง หากอัตราส่วนโดยน้ำหนักระหว่างมวลรวมและเรซินมากกว่า 8:1 จะส่งผลให้เรซินไม่สามารถปิดรูพรุนหรือช่องว่างภายในผิวพื้นได้อย่างเหมาะสม อาจใช้น้ำยาเคลือบสีพื้นเพื่อลดรูพรุนในผิวพื้นได้ ข้อควรระวังคือชั้นน้ำยาเคลือบสีพื้นอาจเกิดการสึกหรอได้ง่ายภายใต้น้ำหนักบรรทุกเนื่องจากการสัญจรของรถยกหรือการใช้งานพื้นที่ การสึกหรออาจส่งผลต่อสมรรถนะตามหลักสุขภาพศาสตร์ของพื้นซึ่งนำไปสู่การซ่อมบำรุงผิวพื้นหรือหยุดสายการผลิต

คุณสมบัติการป้องกันพื้นลื่น
Pendulum Tester Floor Roughness
รูปภาพ: Picture 1: TRRL Pendelum Tester. It is the most widely used method of measuring the slip resistance of a floor worldwide.

วิธีเพิ่มการยึดเกาะพื้นที่ก่อสร้างใหม่ซึ่งได้รับความนิยมคือการเพิ่มมวลรวมลงบนผิวบนของพื้นก่อนที่พื้นเกิดการแข็งตัว ขนาดและประเภทของมวลรวมที่มีความแตกต่างกันมีส่วนช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้แก่ผิวพื้น มวลรวมที่นิยมใช้คือ วัสดุในกลุ่มซิลิกา ควอตซ์ หินไฟ และอะลูมิเนียมออกไซด์ สำหรับผิวพื้นส่วนทับหน้าแบบโปร่งใสหรือแบบมีรงควัตถุให้เพิ่มลงไปบนมวลรวมเพื่อทำหน้าที่ยึดรั้งมวลรวม ยืดอายุการใช้งานและเพิ่มความสามารถป้องกันพื้นลื่น รวมถึงป้องกันความเสียหายในเบื้องต้นของชั้นมวลรวมก่อนการแข็งตัวโดยสมบูรณ์ของพื้น อย่างไรก็ตาม มีการใช้ระบบผิวพื้นมอร์ตาร์ซึ่งมีส่วนผสมของมวลรวมแล้ว แต่ผิวพื้นที่ได้อาจมีคุณสมบัติการป้องกันพื้นลื่นไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงขอแนะนำให้มีการปรับปรุงผิวพื้นเพื่อป้องกันพื้นลื่นร่วมด้วย

การเพิ่มความขรุขระผิวพื้นถือเป็นการเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันพื้นลื่นโดยตรง ข้อเสียของผิวพื้นที่มีความขรุขระมากคือทำความสะอาดพื้นยากขึ้น การออกแบบผิวพื้นที่เหมาะสมต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือระดับความขรุขระที่เหมาะสม แนวทางการทำความสะอาด และประเภทของสารปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่หน้างาน

ระดับขั้นความสามารถป้องกันพื้นลื่นที่คาดหวังอาจมีค่าต่างกันตามแต่ละหน้างาน พื้นที่ในบริเวณที่มีการประกอบอาหารซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันและความชื้น ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องการระดับขั้นความสามารถป้องกันพื้นลื่นสูงกว่าพื้นที่เพื่อการบรรจุผลิตภัณฑ์หรือปฏิบัติงานการจัดส่งสินค้าซึ่งจัดเป็นพื้นที่แห้ง การทดสอบที่ใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตวัสดุผิวพื้นพิจารณาเลือกใช้ระดับขั้นความสามารถป้องกันพื้นลื่นให้เหมาะสมกับหน้างานได้คือ Pendulum Tester (ตามมาตรฐาน EN 13036-4) และ Ramp Test (ตามมาตรฐาน DIN 51130) ผู้ผลิตวัสดุผิวพื้นต้องมีผลทดสอบที่อ้างอิงตามมาตรฐานในข้างต้น ขอแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานหรือเจ้าของโครงการขอข้อมูลในส่วนนี้จากผู้ผลิตวัสดุผิวพื้นเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้วัสดุผิวพื้นที่มีระดับขั้นความสามารถป้องกันพื้นลื่นที่เหมาะสมกับหน้างานและทดลองใช้จริงในส่วนหนึ่งของพื้นที่อาคารก่อนอนุมัติสั่งซื้อและติดตั้งวัสดุผิวพื้นลงบนพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร

กลิ่น

กลิ่นอันไม่พึงประสงค์อาจทำให้สินค้าเกิดความเสียหายหรือสินค้ามียอดขายลดลงในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีจากผู้บริโภค กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงงานอาหารและเครื่องดื่มอาจควบรวมตัวทำละลายที่มีส่วนประกอบของสไตรีนหรือสารระเหยอื่นที่มีฤทธิ์อันตรายและส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานหากสูดดมเข้าไป

นอกจากนี้ ตัวทำละลายและสารอื่นในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายสามารถทิ้งกลิ่นไม่พึงประสงค์รุนแรงไว้ได้ การป้องกันอันตรายจากสารเหล่านี้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสและกำจัดสารเหล่านี้ออกไปให้หมด ซึ่งในความเป็นจริง มีการออกกฎหมายและข้อบังคับไม่ให้อาหารโดยส่วนใหญ่ตลอดจนพืชผักทุกชนิดใช้สารเคลือบผิวเพื่อลดการสะสมของจุลินทรีย์และยืดอายุของผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม สารเคลือบผิวบางชนิดในท้องตลาดอาจส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ขณะใช้งาน แต่มีข้อดีคือกลิ่นไม่พึงประสงค์จะระเหยไปเองโดยไม่ปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สารเคลือบผิวเหล่านี้ ต้องทำการตรวจสอบสารดังกล่าวในห้องปฏิบัติการณ์และคำนวณระยะเวลาที่กลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดการระเหยหมดโดยสมบูรณ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม่เกิดความเสียหาย

ความคงทน
Worker standing on hygenic floor in Meat Processing Plant

น้ำหนักบรรทุกเนื่องจากแรงกระแทก การสึกหรอ การสึกกร่อน การสัมผัสสารเคมี ความแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน น้ำหนักบรรทุกกระทำแบบจุดซึ่งมีค่ามาก รวมถึงการลากและเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านแท่นวางล้วนเป็นสาเหตุการเกิดหน่วยแรงกระทำต่อผิวพื้นโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ การหล่นของวัสดุที่มีน้ำหนักมาก มีด ตะขอ หรือของมีคมชนิดอื่นอาจทำให้พื้นเกิดรอยร้าวได้

การก่อสร้างผิวพื้นที่มีความหนามาก มีส่วนช่วยเพิ่มความคงทนและลดความเสียหายจากการเกิดหน่วยแรงกระทำต่อผิวพื้นได้ การเลือกใช้ความหนาที่เหมาะสมกับพื้นสามารถคำนวณได้จากการวิเคราะห์หน่วยแรงกระทำต่อผิวพื้นเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของพื้นโดยละเอียด สำหรับพื้นแบบเรซินในโรงงานแปรรูปและผลิตอาหาร แนะนำให้ใช้ความหนาไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่เปียกหรือสัมผัสความชื้นบ่อย แนะนำให้ใช้ความหนาไม่น้อยกว่า 6 มิลลิเมตร ในส่วนของแผ่นกระเบื้องสำหรับกรณีทั่วไป จะมีความหนาอยู่ระหว่าง 8.5 และ 20 มิลลิเมตร สำหรับกรณีที่มีการใช้แผ่นกระเบื้องในพื้นที่ที่อาจได้รับน้ำหนักบรรทุกมาก แนะนำให้ใช้แผ่นกระเบื้องที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 12 มิลลิเมตร

ในกรณีที่ต้องคำนึงถึงความสามารถต้านทานสารเคมี ต้องทำการพิจารณาสารเคลือบผิวพื้นอย่างละเอียดเนื่องจากสารเคลือบผิวพื้นแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกันในเรื่องของประเภท ความเข้มข้น อุณหภูมิ และระยะเวลาสัมผัสสาร สารเคมีในกลุ่มที่ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสได้รับความเสี่ยงบ่อยที่สุดคือกรดฟอสฟอริก กรดไนตริก สารละลายในกลุ่มโซดาไฟ และคลอรีนซึ่งเป็นสารประกอบในสารเคมีที่ใช้เพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์การผลิต พื้น และผนัง

นอกจากนี้สารอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ปฏิบัติงานประกอบด้วยกรดแลคติก กรดซิตริก กรดอะซิติก เลือด น้ำตาลอ้อย น้ำมัน ไขมัน คราบจารบีและสารอื่น ถึงแม้ว่าสารประกอบเหล่านี้มีปริมาณสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำ แต่การระเหยของสารเหล่านี้สามารถเพิ่มความเข้มข้นและคุณสมบัติการกัดกร่อนได้ นอกจากนี้ อุณหภูมิและระดับความชื้นของพืชผักซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของโรงงานอาจส่งผลให้ของสารประกอบเหล่านี้มีความสามารถการระเหยได้ดีขึ้น จึงถึงเป็นอีกเหตุผลที่อุณหภูมิในโรงงานผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มมีการแปรปรวนในช่วงกว้างและแปรผันได้เร็ว

ตัวอย่างพื้นที่ที่อุณหภูมิมีความแปรปรวนสูงคือพื้นที่อยู่ติดกับตู้แช่แข็งผลิตภัณฑ์เนื่องจากอุณหภูมิในบริเวณนี้อาจต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส หรือแปรผันไปถึงอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมซึ่งมีค่าไม่น้อยกว่า 21 องศาเซลเซียส ส่งผลให้พื้นในบริเวณดังกล่าวต้องสามารถใช้งานได้ดีภายใต้ทุกสภาวะของสภาพแวดล้อมที่เกิดความแปรปรวนของอุณหภูมิ อย่างไรก็ตาม สภาวะความแปรปรวนของอุณหภูมิที่รับมือได้ยากกว่าปกติคือสภาวะการแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและมีผลต่างของอุณหภูมิมากกว่า 100 องศาเซลเซียส แล้วกลับสู่สภาวะเดิมภายในเวลาในหลักวินาที การแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันอาจเกิดจากขั้นตอนการปรุงอาหาร การล้าง การทำความสะอาดภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหาร นอกจากนี้ การแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างขั้นตอนการทำความสะอาดเครื่องจักรแบบไม่ถอดชิ้นส่วน (cleaning in place)

การแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันอาจทำให้พื้นเกิดรอยร้าว สำหรับพื้นที่มีการเคลือบผิวอาจทำให้ชั้นเคลือบผิวเกิดการแยกชั้นได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ควรออกแบบให้ผิวพื้นมีสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากอุณหภูมิใกล้เคียงกับองค์อาคารพื้นคอนกรีต มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างผิวพื้นและองค์อาคารพื้นที่ดี รวมถึงมีโมดูลัสยืดหยุ่นต่ำ นอกจากนี้ต้องเลือกใช้ความหนาของผิวพื้นอย่างเหมาะสม ชั้นบนของผิวพื้นควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 9 มิลลิเมตร สำหรับกรณีที่ผิวพื้นต้องรับน้ำร้อนหรือสารเคมีที่มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 90 องศาเซลเซียส

การติดตั้ง
Application of Sika hygienic floor system

ในการซ่อมบำรุงและปรับปรุงพื้นในบริเวณที่มีการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อาจประสบปัญหาการติดตั้งผิวพื้นใหม่เนื่องจากพื้นเดิมมีความชื้นสูงซึ่งส่งผลต่อการยึดเหนี่ยวระหว่างผิวพื้นลิงค์อาคารพื้น ปัญหาอื่นที่พบได้คือพื้นเดิมอาจปนเปื้อนสารซักฟอกและสารตกค้างอื่นจากสายการผลิต

การทำงานปรับปรุงพื้นในบริเวณที่มีความชื้นที่สูงกว่าปกติอาจเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สามารถพบได้ ผิวพื้นบางระบบยอมให้มีความชื้นในองค์อาคารพื้นคอนกรีตสูงกว่าผิวพื้นระบบอื่น รวมถึงการใช้อุณหภูมิการบ่มที่ต่ำกว่าและระยะเวลาการบ่มที่สั้นกว่าระบบอื่น ซึ่งการบ่มอาจใช้เวลาในหลักชั่วโมงเท่านั้น

สิ่งสำคัญของงานซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้นคือ การเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ สามารถจัดการปัญหาหน้างานที่เกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้นได้เป็นอย่างดี คณะผู้ปฏิบัติงานของผู้รับเหมาต้องผ่านการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตวัสดุผิวพื้นตามที่เจ้าของโครงการพิจารณาเลือกใช้ ผลของการซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้นที่ดีขึ้นกับการวางแผนที่ดีและรัดกุม รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายเป็นอย่างดี

ข้อคิดเห็น

การวิบัติของผิวพื้นอาจเป็นไปได้หลายสาเหตุเช่น การออกแบบและก่อสร้างองค์อาคารพื้นไม่ดี การเลือกใช้ผิวพื้นไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง การติดตั้งผิวพื้นไม่เหมาะสม รวมถึงการทำรอยต่อระหว่างชั้นผิวพื้นและองค์อาคารพื้นไม่ตรงตามแบบรายละเอียดที่ออกแบบไว้

เรื่องที่น่าวิตกกังวลคือการวิบัติของผิวพื้นมักพบในผิวพื้นที่มีราคาสูง ส่งผลให้ต้องมีการซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้นอันจะนำไปสู่การหยุดสายการผลิตและการสูญเสียรายได้ของธุรกิจ กระบวนการซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้นโดยทั่วไปใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันโดยเฉลี่ย ระยะเวลาที่ใช้อาจมากขึ้นหรือน้อยลงได้โดยขึ้นกับขนาดความเสียหายและความซับซ้อนของขั้นตอนการซ่อมที่เหมาะสมกับวัสดุผิวพื้นในหน้างาน

คุณสมบัติสำคัญของพื้นเรซินคือผิวพื้นมีความต่อเนื่อง ผิวพื้นสามารถติดตั้งได้อย่างราบรื่นและไม่ติดปัญหาหากองค์อาคารพื้นมีการออกแบบที่ดี การลดจำนวนรอยต่อมีส่วนช่วยเพิ่มความคงทนและอายุการใช้งานของผิวพื้น รวมถึงลดการสะสมของแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเพื่อให้เป็นไปตามหลักสุขภาพศาสตร์ ในการนี้ ซิก้ามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยตอบโจทย์ท่านได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกระบวนการซ่อมบำรุงและปรับปรุงผิวพื้น โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อเรา เพราะนอกจากจะทำให้โครงการของท่านแล้วเสร็จได้ตรงตามเวลาที่กำหนดและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ตามงบประมาณแล้ว ซิก้ามีความพร้อมเสมอกับการให้คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด

อ้างอิง

  • H.L.M Levieveld, M.A Mostert and J. Holah: Handbook of Hygiene Control in the Food Industry. 2005

  • EN 13036 (British Standard): Road and airfield surface characteristics – Test Methods. Part 4: Method of measurement of the slip/skip resistance of a surface: The pendulum test.

  • DIN 51130 (Germany). Testing of floor coverings; Determination of the anti-slip property – Workrooms and fields of activities with slip danger, walking method – ramp test.

  • J. Holah and H. L. M Levieveld: Hygienic design of food factories. 2011 Fussboden Technik: Bodenanforderungen in der Lebensmittelverabeitung. 01/2002
Sika Expert - Ari Tanttu

ผู้เขียน
Ari Tanttu
Market Development Manager
Target Market Flooring
Sika Services AG