19/08/2021
ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกสถานประกอบการ ผลสำรวจพบว่าอาการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงานที่พบบ่อยที่สุดคือการลื่นล้ม ซึ่งมีค่าประมาณ 86% ของการบาดเจ็บทั้งหมด และเป็นที่น่าสนใจว่า 90% ของผู้ปฏิบัติงานที่บาดเจ็บดังกล่าว เกิดการลื่นล้มเพราะพื้นอยู่สภาพเปียกชื้น สถิติการลื่นล้มของผู้ปฏิบัติงานโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารมีค่ามากกว่าโรงงานอุตสาหกรรมอื่นถึง 4 เท่า นอกจากนี้ การบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง สิ่งที่แย่ที่สุดคือผู้ปฏิบัติงานเกิดความทุกข์ทรมาน การลื่นล้มอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความพิการได้ ผลกระทบในลำดับถัดไปคือ บริษัทสูญเสียกำไรและผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ สูญเสียผู้ปฏิบัติงานหลัก สูญเสียความสามารถในการผลิต หรือเกิดข้อบกพร่อง
ในเบื้องต้น การดูแลรักษาให้พื้นแห้งและสะอาดมีส่วนช่วยลดโอกาสเดินสะดุดและลื่นล้มได้ แต่ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงของโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มอาจไม่สามารถควบคุมให้พื้นแห้งได้ตลอดเวลา ส่งผลให้การลดโอกาสเดินสะดุดและลื่นล้มในความเป็นจริงอาจทำได้ไม่ง่ายนัก
ความต้องการของผู้ปฏิบัติงานที่ขัดแย้งกัน สามารถพบได้ในทางปฏิบัติ เช่น ประเด็นเรื่องระดับความขรุขระของผิวพื้นและความสะดวกในการทำความสะอาดพื้น สาเหตุเกิดจากผู้จัดการหรือหัวหน้าโรงงานมีความต้องการให้พื้นมีความขรุขระเพื่อลดโอกาสเดินสะดุดและลื่นล้มรวมถึงเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่ผู้จัดการหรือผู้ปฏิบัติงานฝ่ายซ่อมบำรุงมีความต้องการพื้นที่มีความเรียบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด ส่งผลให้การหาแนวทางเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการระหว่างผู้ปฏิบัติงานในแต่ละฝ่ายจัดเป็นที่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
จากการเก็บข้อมูลในหน้างานจริงสามารถสรุปได้ว่าปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเดินสะดุดและลื่นล้มของผู้ปฏิบัติงานแบ่งได้เป็น 4 ข้อ (ตามที่ปรากฎในตารางที่ 1) ดังนี้:
- สภาพแวดล้อม
- การบริหารจัดการขององค์กร
- ความประมาทของตัวผู้ปฏิบัติงาน
- รองเท้า
สิ่งแวดล้อม
สาเหตุ | แนวทางป้องกัน |
---|---|
ผิวพื้นมีการปนเปื้อน (หกหรือรั่วไหล สิ่งสกปรก หรือพื้นเปียก) | กำจัดสิ่งที่ปนเปื้อนผิวพื้นออกไป |
พื้นกันลื่นไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม (ผิดวิธีหรือไม่เพียงพอ) | ขจัดสิ่งสกปรก ปรับแนวทางการทำความสะอาดให้เหมาะสมและทำความสะอาดอย่างทั่วถึง |
พื้นมีความสามารถป้องกันการลื่นที่ต่ำเกินไป (มีความขรุขระไม่เพียงพอ) | เพิ่มความสามารถป้องกันการลื่นหรือจัดวางพื้นกันลื่นให้มากขึ้น |
ขั้นบันไดและทางลาด — ขั้นบันไดชิดกันเกินไป และไม่มีเครื่องหมายชัดเจน ทางลาดชันเกินไป | จัดให้พื้นมีเครื่องหมายตามขั้นบันไดและสัญลักษณ์ความต่างระดับอย่างชัดเจน รวมถึงการจัดทำราวจับเพื่อให้ใช้งานพื้นได้อย่างปลอดภัย |
พื้นมีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างไม่เพียงพอ | เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่ซ่อนตามมุมพื้น และจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ |
ลักษณะงาน และการเคลื่อนที่บนพื้น (จำเป็นต้องยกของหนัก หมุนและเคลื่อนตัวเร็ว ดึงของหนัก) | ออกมาตรการให้ผู้ใช้พื้นมีความไม่ประมาท และระมัดระวังการสัญจรในบริเวณที่พื้นมีความลื่น |
องค์กร
สาเหตุ | แนวทางป้องกัน |
---|---|
แผนผังสถานที่ทำงานและเส้นทางการจราจรทั่วไป | ระบุพื้นที่ที่อาจเกิดการลื่น และเสริมสร้างพฤติกรรมในด้านความปลอดภัยให้มากขึ้น |
วัฒนธรรมองค์กรในด้านความปลอดภัย | ให้ความรู้และส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อความปลอดภัยโดยรวม วัดผล และแจ้งความคืบหน้าด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง |
การกำกับดูแล | คอยติดตามพฤติกรรมและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไข |
รองเท้า
สาเหตุ | แนวทางป้องกัน |
---|---|
รองเท้าที่ใช้ต้องกันลื่นได้อย่างเหมาะสม | ใช้รองเท้าที่เหมาะสม รวมทั้งวัสดุและพื้นของรองเท้าต้องเหมาะสมกับพื้นผิว |
ตัวบุคคล
สาเหตุ | แนวทางป้องกัน |
---|---|
ความปลอดภัยคือความรับผิดชอบของทุกคน | จัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอ ให้รางวัลแก่บุคคลที่แนะนำวิธีการทำงานที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า |
ข้อกำหนดในการประเมินความสามารถป้องกันพื้นลื่น
ข้อกำหนดเกี่ยวกับความสามารถป้องกันพื้นลื่นของผิวพื้นและระดับความเข้มงวดของการบังคับใช้มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติแต่ไม่ได้บังคับใช้ในทางกฎหมาย กล่าวคือข้อบังคับมีความยืดหยุ่น วิศวกรผู้ออกแบบและผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของหน้างานจริง ในขณะที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับความสามารถป้องกันพื้นลื่นของผิวพื้นของสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มีการบังคับใช้อย่างชัดเจน วิศวกรผู้ออกแบบและผู้รับเหมาก่อสร้างจะมีความผิดตามกฎหมายหากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดขึ้น
วิธีการตรวจวัดความสามารถป้องกันพื้นลื่นที่ได้รับการยอมรับในสากลคือการใช้เครื่องบริติสเพนดูลัมเทสเตอร์ (British Pendulum Tester, BPT) หรือเครื่องทดสอบความต้านทานการลื่น (portable skid resistance tester) โดยที่เครื่อง BPT แสดงดังรูปที่ 1 ในปัจจุบัน การทดสอบดังกล่าวจัดเป็นมาตรฐานการทดสอบใน 49 ประเทศทั่วโลก
รายละเอียดการตรวจวัดความสามารถป้องกันพื้นลื่นโดยใช้เครื่อง BPT แสดงไว้ในมาตรฐาน ASTM E303-93 มาตรฐาน BS EN 13036-4-2011 และมาตรฐาน HB 197: 1999 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ร่างขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตามลำดับ มาตรฐานมีการแสดงแนวทางการทดสอบชัดเจนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผลทดสอบที่ได้ถือเป็นผลทดสอบแบบเปียกเนื่องจากมีการราดน้ำผิวทดสอบด้วยน้ำสะอาดก่อนดำเนินการทดสอบ
สำหรับแนวทางการทดสอบความสามารถป้องกันพื้นลื่นของห้องปฏิบัติการวิจัยการขนส่งและผิวทาง (The Transport and Road Research Laboratory, TRRL) คือการปรับระยะให้ยางบนแขนเหวี่ยงสัมผัสกับผิวพื้นสังเคราะห์ที่เป็นชุดอุปกรณ์ของเครื่องทดสอบ ค่าที่ตรวจวัดได้คือสัมประสิทธิ์ความเสียดทานระหว่างผิวพื้นสังเคราะห์และผิวพื้นทดสอบ ข้อดีของแนวทางการทดสอบนี้คือสามารถปฏิบัติการทดสอบขณะที่พื้นที่อาคารอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำงานของบุคลากรและสายการผลิตได้ รวมถึงการทดสอบสามารถทำได้ทั้งผิวพื้นในสภาวะแห้งและเปียกชื้น ผลทดสอบเชิงตัวเลขที่ได้สามารถแปลผลความสามารถป้องกันพื้นลื่นได้ 3 ระดับคือ ต่ำ กลาง และสูง
แนวทางอื่นที่ใช้ทดสอบความสามารถป้องกันพื้นลื่นที่ได้รับความนิยมคือ การทดสอบความลาดแบบแปรผันมุม (variable-angle ramp test) ตามมาตรฐาน DIN 50197 และมาตรฐาน DIN 51130 ซึ่งแถบปูพื้นจะติดตั้งอยู่บนทางลาดแบบเคลื่อนที่ได้ ผู้ร่วมการทดสอบต้องสวมรองเท้านิรภัยเพื่อทำการเดินบนแถบปูพื้นไปในทิศทางเดียวและเดินย้อนกลับมาจุดเริ่มต้น ทางลาดจะเอียงเล็กน้อยตามระดับขั้น จนกระทั่งผู้ร่วมการทดสอบเกิดการลื่นไถล มุมที่ผู้ทดสอบเกิดการลื่นไถลจะถูกบันทึกเป็นค่าคงที่ของพื้น สำหรับการทดสอบความลาดแบบแปรผันมุมในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม นิยมเติมสารในพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อศึกษาผลของสารปนเปื้อนบนพื้นผิวต่อความสามารถป้องกันพื้นลื่นของผิวพื้นเพื่อจำลองสภาพการใช้งานจริง การทดสอบประเภทนี้เหมาะสำหรับผิวพื้นที่มีน้ำหนักมากและผิวพื้นที่มีรูปแบบซับซ้อน
วิธีทดสอบในที่ซึ่งจัดเป็นการทดสอบแบบพลวัตคือการใช้เครื่องทดสอบไตรโบมิเตอร์ (Tribometer) และ SlipAlert ซึ่งสามารถตรวจวัดค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของผิวพื้นได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ได้บนผิวพื้นในสภาวะแห้งและเปียกชื้น นอกจากนี้ เครื่อง SlipAlert ยังได้รับการรับรองตามมาตรฐาน BS 8204-6: Synthetic Resin Flooring และจัดเป็นแนวทางการทดสอบหลักที่ใช้ในสหราชอาณาจักร รวมถึงเป็นแนวทางการทดสอบที่ใช้งานในสภาพหน้างานจริงได้เหมาะสมกว่าวิธี TRRL Pendulum
การประเมินค่าความสามารถป้องกันพื้นลื่นในสภาวะเปียกชื้นทำได้โดยใช้เครื่องวัดความขรุขระระดับไมโครเมตรเพื่อวัดความขรุขระผิวขนาดยอดสูงสุดและความขรุขระผิวขนาดหลุมลึกสุด ผลลัพธ์จะแสดงเป็นค่าคงที่ RZ ของผิวพื้น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ความสามารถป้องกันพื้นลื่นของผิวพื้นโดยตรง เครื่องวัดความขรุขระระดับไมโครเมตรสามารถใช้งานได้ง่าย และนิยมใช้เพื่อยืนยันผลทดสอบที่ได้จากเครื่อง BPT อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของเครื่องวัดความขรุขระระดับไมโครเมตรคือ เครื่องไม่สามารถใช้ประเมินค่าความสามารถป้องกันพื้นลื่นในกรณีที่ผิวพื้นมีความขรุขระอย่างมีนัยสำคัญได้
การบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันพื้นลื่น
ข้อพิจารณาสำคัญที่ใช้ประกอบการเลือกผิวพื้นที่เหมาะสมกับหน้างานจริงมี 4 ประเด็นคือระดับการปนเปื้อนของสารในพื้นที่ปฏิบัติงาน แนวทางการทำความสะอาดพื้น ความลาดชันของพื้น และประเภทของรองเท้าที่ผู้ปฏิบัติงานสวมขณะทำงาน
การปนเปื้อนของสารในพื้นที่ปฏิบัติงาน
ผิวพื้นสามารถปนเปื้อนจากสารในพื้นที่ปฏิบัติงานได้ เช่น น้ำ ไขมัน น้ำมัน เศษอาหาร ตลอดจนส่วนผสมของสารประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ความสามารถป้องกันพื้นลื่นที่ผิวพื้นต้องการจะมีค่ามากขึ้นตามความหนืดของสารในพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีโอกาสปนเปื้อนผิวพื้น
ตารางที่ 2 แสดงค่าความขรุขระขั้นต่ำของผิวพื้นโดยที่ระดับความขรุขระคิดจากอัตราส่วนระหว่างความขรุขระผิวขนาดยอดสูงสุดและความขรุขระผิวขนาดหลุมลึกสุด ความขรุขระของผิวพื้นวัดจากเครื่องวัดความขรุขระในระดับไมโครเมตร เพื่อให้ผิวพื้นมีความสามารถป้องกันพื้นลื่นเหมาะสมกับสารในพื้นที่ปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาใช้วิธีอื่นเช่น British Pendulum tester และ Dynamic friction tester เพื่อตรวจวัดความขรุขระของผิวพื้นร่วมด้วย
ความขรุขระขั้นต่ำ, μm | สารปนเปื้อน |
---|---|
20 | น้ำสะอาด กาแฟ น้ำอัดลม |
45 | นม สบู่เหลว |
60 | เครื่องปรุง |
70 | น้ำมันมะกอก |
>70 | มาการีน |
ความลาดชันและความเรียบของผิวพื้น
ความลาดชันของพื้นถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเคลื่อนย้ายของเหลวหรือสารที่อยู่บนพื้นไปสู่ระบบระบายน้ำโดยอาศัยหลักการของแรงโน้มถ่วง ในขณะเดียวกัน การเพิ่มความสามารถป้องกันพื้นลื่นจะขัดขวางการไหลของสารและของเหลวไปสู่ระบบระบายน้ำเนื่องจากพื้นมีความขรุขระเพิ่มขึ้น การปรับความลาดชันให้สูงขึ้นสามารถช่วยเพิ่มอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงได้ แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุของผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากการใช้งานพื้น ในปัจจุบันไม่มีข้อกำหนดในเรื่องค่าความลาดชันของพื้นที่มีความเหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติสำหรับพื้นโรงงานอุตสาหกรรม แนะนำให้ใช้ค่าอัตราส่วนความลาดชันของพื้นระหว่าง 1:100 และ 1:80 และสำหรับพื้นระบบระบายน้ำแบบอิสระ สามารถใช้ค่าอัตราส่วนความลาดชันของพื้นได้มากถึง 1:50 อย่างไรก็ตาม ผิวพื้นที่มีความขรุขระอาจต้องการระดับความสูงที่มากเพื่อเหนี่ยวนำพลังงานศักย์เป็นตัวนำสารและของเหลวไปสู่ระบบระบายน้ำ
ค่าระดับความสูงและความเรียบของผิวพื้นเป็นตัวแปรกำหนดความน่าจะเป็นที่สารปนเปื้อน ของเหลว และน้ำจะขังบนพื้นซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมของสารปนเปื้อนในลักษณะของชั้นฟิล์มบาง ผลกระทบจากชั้นฟิล์มสารปนเปื้อนที่มีต่อผิวพื้นคือการลดความสามารถต้านทานพื้นลื่น มาตรฐาน BS8024-1 ได้ให้คำแนะนำสำหรับกรณีของพื้นเรซินสังเคราะห์โดยการระบุค่าระดับความเรียบของผิวพื้นให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง
การเดินสะดุดของผู้ปฏิบัติงานสามารถเกิดขึ้นได้บนผิวพื้นที่ไม่เรียบ รวมถึงผลกระทบอื่นเช่น การสึกหรอของพื้นที่เกิดขึ้นได้ง่าย ปัญหาการสัญจรของยานพาหนะบนพื้นไม่เรียบ และการเพิ่มอุปสรรคในการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อปฏิบัติงาน ความเรียบของผิวพื้นสามารถวัดได้โดยใช้เหล็กวัดความเรียบ นำมาวางในราบร่วมกับเครื่องปาดผิวและทำการตรวจวัดค่าความแตกต่างระดับ ตามข้อกำหนดที่ระบุใน British Standards โดยที่ค่าความแตกต่างที่ยอมให้แสดงในตารางที่ 3
ระดับ | ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้จากขอบตรง – มม. | การใช้งาน |
---|---|---|
SR1 | 3 มม. | สูงกว่ามาตรฐาน : ผิวพื้นออกแบบพิเศษ |
SR2 | 5 มม. | มาตรฐานปกติ : ใช้งานในเชิงพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม |
SR3 | 10 มม. | เน้นการใช้ประโยชน์ : พื้นอื่นๆ ที่ความสม่ำเสมอของพื้นผิวเป็นสิ่งสำคัญ |
การทำความสะอาดและซ่อมบำรุงพื้น
ผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงต้องปรับแนวทางการทำความสะอาดให้เหมาะสมกับสภาพหน้างานจริงเสมอ ผิวพื้นที่มีความขรุขระมากจำเป็นต้องทำความสะอาดโดยวิธีขัดถูหรือใช้เครื่องมือกลช่วยทำความสะอาดมากกว่าผิวพื้นที่มีความเรียบ รวมถึงน้ำที่ต้องใช้ทำความสะอาดผิวพื้นที่มีความขรุขระจะมีปริมาณมากกว่าผิวพื้นเรียบ อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดพื้นโดยใช้เครื่องกลบ่อยครั้งอาจส่งผลให้ผิวพื้นเกิดการเสื่อมสภาพและความสามารถป้องกันพื้นลื่นต่ำลงเมื่อเทียบกับความสามารถป้องกันพื้นลื่นของผิวพื้นที่สร้างใหม่
จากปัจจัยในข้างต้น เจ้าของธุรกิจบางรายจึงพิจารณาเลือกใช้ “พื้นกันลื่นอย่างยั่งยืน” สำหรับการจัดทำพื้นโรงงานและสิ่งปลูกสร้างของพวกเขา ในกรณีนี้ ความสามารถป้องกันพื้นลื่นในระยะยาวสามารถประเมินได้จากผลทดสอบ โดยวัดค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของผิวพื้นที่สร้างใหม่เทียบกับค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของผิวพื้นที่ผ่านการทำความสะอาดแบบวัฏจักร
วิธีการทำความสะอาดพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกรณีทั่วไปคือการใช้เครื่องมือกลร่วมกับการใช้สารเคมีที่เหมาะสมกับผิวพื้น สิ่งสำคัญของการควบคุมความสามารถป้องกันพื้นลื่นคือการปฏิบัติตามกระบวนการทำความสะอาดพื้นซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิตผิวพื้น
รองเท้า
พื้นในโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เปียกและมีการปนเปื้อนเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อการปฏิบัติงาน ไม่ใช่เพียงรองเท้าเซฟตี้ที่เป็นสิ่งจำเป็น วัสดุที่ทำพื้นรองเท้า และพื้นผิวจะเป็นตัวกำหนดความต้านทานการลื่นของพื้นรองเท้ากับพื้นผิวที่กำหนด หลังจากจับคู่ตัวแปรแล้ว รองเท้าและรองเท้าบูทควรได้รับการตรวจสอบการสึกหรออย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับพื้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อแนะนำ
ความปลอดภัยถือเป็นความรับผิดชอบของบุคลากรทุกคนนับตั้งแต่ผู้บริหารซึ่งเป็นบุคลากรระดับสูงสุดขององค์กรไปจนถึงผู้ปฏิบัติงานระดับล่างสุด ความปลอดภัยต้องเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและค่านิยมในทุกองค์กรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานและบุคลากรมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน รวมถึงมีความรู้สึกว่าองค์กรให้ความสำคัญแก่บุคลากรทุกระดับชั้น
ที่ซิก้า เรามีผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยให้สถานที่ทำงานของคุณปลอดภัยและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยคุณตอบโจทย์การเลือกผิวพื้นหรือพื้นที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานที่หน้างานจริง ทำความสะอาดง่าย และมีระดับความขรุขระของผิวพื้นผิวที่เหมาะสำหรับทุกภาคส่วนในพื้นที่โรงงานหรือสถานประกอบการของคุณ เมื่อคุณมองหาผิวพื้น โปรดไว้วางใจเลือกใช้บริการจากซิก้า
อ้างอิง
- HSE information sheet: Food Sheet No 6. 9/1998
- HSE: Assessing Slip Resistance. 5/2012
- FerFa: Measuring and Managing the Level of Slip Resistance Provided by Resin Flooring. 4/2012
- Christopher G.J Baker: Handbook of Food Factory Design. 2013
ผู้เขียน
Ari Tanttu
Market Development Manager
Target Market Flooring
Sika Services AG